รีวิวเลนส์ Sony FE 16-35mm F2.8 GM II จากช่างภาพสาย Landscape
บทนำ
เลนส์ Sony FE 16-35mm F2.8 GM II (SEL1635GM2) คือเลนส์ซูมมุมกว้างพิเศษแบบฟูลเฟรมซึ่งเป็นเลนส์รุ่นที่สองจากตระกูล G Master เลนส์รุ่นนี้มีการพัฒนาในส่วนต่าง ๆ จนต่างจากรุ่นก่อนมาก จุดที่น่าสนใจคือการเคลือบ Nano AR รุ่นที่สอง หรือ Nano AR Coating II ซึ่งจะช่วยลดแสงแฟลร์ลง ทำให้ได้ภาพแฉกแสงอาทิตย์ที่สวยจับตา ตัวเลนส์มีขนาดกะทัดรัดยิ่งขึ้น โดยที่ความยาวลดลง 1 ซม. และน้ำหนักเบากว่าเดิม 130 กรัม เมื่อใช้งานร่วมกับกล้อง Alpha 7C II (หรือ Alpha 7C R) คุณจะได้คู่หูที่มีขนาดกะทัดรัดและน้ำหนักเบา ซึ่งเหมาะมากสำหรับการเคลื่อนย้ายและการเดินทาง
ผมจะไม่พูดถึงตารางหรือตัวเลข แต่จะให้คุณดูภาพถ่ายของจริงซึ่งเผยให้เห็นคุณสมบัติต่าง ๆ ของเลนส์และผลงานศิลปะที่ถ่ายโดยใช้กล้อง Alpha 7C II และเลนส์ FE 16-35mm F2.8 GM II ภาพที่ได้มาจากทริปที่ผมเดินทางไปยังหมู่เกาะโลโฟเทนในประเทศนอร์เวย์และภูมิภาคฮอกไกโดของประเทศญี่ปุ่น สภาพแวดล้อมในการถ่ายภาพนั้นท้าทายมากทีเดียว แต่กล้องและเลนส์ก็ทำงานได้อย่างยอดเยี่ยมสุด ๆ แม้ว่าอุณหภูมิจะหนาวจัดถึง -15°C และบางเวลาก็มีลมแรงถึง 30 กม./ชม.
เลนส์มีช่วงความยาวโฟกัสหลายช่วงตั้งแต่ 16 ถึง 35 มม. ซึ่งเหมาะกับการถ่ายภาพทิวทัศน์พร้อมฉากหน้า โดยเฉพาะทัศนียภาพของท้องทะเลและทะเลสาบ ยิ่งไปกว่านั้น ขนาดรูรับแสงกว้างสุด F2.8 ของเลนส์รุ่นนี้ยังครอบคลุมถึงการถ่ายภาพในที่ร่มซึ่งมีสภาพแสงน้อยและการถ่ายภาพดาราศาสตร์ เช่น การถ่ายภาพทางช้างเผือกและเส้นแสงดาวหรือ star trails ด้วย เมื่อรวมกับคุณสมบัติทางออปติคัลที่ล้ำเลิศและดีไซน์ที่กะทัดรัด จึงทำให้เลนส์ FE 16-35mm F2.8 GM II กลายเป็นหนึ่งในเลนส์โปรดของผมครับ
ส่วนที่ไม่มีการปรับแก้ไข
ภาพถ่ายทุกภาพในรีวิวนี้เป็นการบันทึกในรูปแบบ RAW ด้วยกล้อง Alpha 7C II และปรับแต่งโดยใช้ RAW decoding ใน Adobe Lightroom ความคมชัดเป็นการปรับตั้งตามค่ามาตรฐาน 33MP (Amount= 70, Radius= 0.8, Detail= 70, Masking= 0) จากนั้นผมแต่งภาพใน Photoshop โดยใช้ Luminosity Masks เพื่อให้ได้เอฟเฟกต์ภาพที่มีศิลปะ อย่างไรก็ตาม ยังมีการปรับตั้งบางอย่างที่ผมไม่ได้แตะต้องเลย ได้แก่
-
ความบิดเบี้ยว (Distortion)
-
การเพิ่มขอบมืดให้กับภาพ (Vignetting)
-
แสงแฟลร์ (Flare)
-
ความคลาดสี (Chromatic Aberration หรือ CA)
เกณฑ์ในการเลือกเลนส์
เทคโนโลยีมีการพัฒนาก้าวล้ำไปอย่างมากนับตั้งแต่ยุค 1990 เป็นต้นมา ทำให้เกณฑ์ในการเลือกเลนส์ขยับสูงขึ้นเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เลนส์รุ่นเรือธงจากบริษัทผู้ผลิตรายสำคัญที่ต่างลดความสีเพี้ยนลงอย่างมากและเพิ่มความคมชัดให้กับมุมของภาพ ดังนั้น เกณฑ์ที่ผมใช้ในการเลือกเลนส์สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์ ณ ปัจจุบันจึงเปลี่ยนไปด้วย ต่อไปนี้คือเกณฑ์ที่ผมเรียงตามลำดับความสำคัญครับ
-
แฉกแสงอาทิตย์และแสงแฟลร์: แฉกแสงอาทิตย์หรือ Sunstar จะทำให้ภาพทิวทัศน์ดูพิเศษไม่เหมือนใคร เลนส์ที่สามารถสร้างแฉกแสงอาทิตย์ได้สวยอย่างไร้ที่ตินับว่าหายากมาก
-
ความบิดเบี้ยว: เลนส์ซูมมุมกว้างส่วนใหญ่มักทำให้ภาพเกิดความบิดเบี้ยว ยิ่งมีความบิดเบี้ยวน้อย ภาพจะยิ่งเป็นธรรมชาติมากขึ้น ถึงแม้เราจะสามารถแก้ไขความบิดเบี้ยวในขั้นตอนการตกแต่งภาพในภายหลังได้ก็จริง แต่วิธีนี้อาจส่งผลให้เกิดการขยายหรือบีบภาพ และท้ายที่สุดจะทำให้ภาพเสียความคมชัดที่มีอยู่เดิมได้
-
ความคมชัดที่มุมภาพ: การทำให้ภาพมีความคมชัดสม่ำเสมอตั้งแต่ตรงกลางภาพไปจนถึงมุมภาพเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก
-
การเพิ่มขอบมืดให้กับภาพ: คือการทำให้มุมขอบทั้งสี่ด้านของภาพมืดกว่าบริเวณตรงกลางภาพ
-
ความคลาดสี สีเพี้ยน: หรือที่เรียกว่าขอบม่วง (Colour Fringing) ส่วนมากจะพบในภาพที่บริเวณขอบภาพมีส่วนมืดและส่วนสว่างตัดกันอย่างชัดเจน
-
โฟกัสอัตโนมัติ: ในการถ่ายภาพทิวทัศน์ ผมมักจะปรับโฟกัสเองและ Auto Focus (AF) บ้างเป็นบางครั้งเมื่อถ่ายภาพสัตว์ป่าในฮอกไกโด ดังนั้น AF จึงถูกจัดให้มีความสำคัญอยู่ในลำดับล่างสุด
แฉกแสงอาทิตย์สวย ๆ กับแสงแฟลร์เล็กน้อย
จากคุณสมบัติทั้งหมดของเลนส์ การทำเอฟเฟกต์แฉกแสงอาทิตย์น่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายที่สุดเพราะต้องอาศัยหลาย ๆ องค์ประกอบรวมกัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบเลนส์ จำนวนม่านรูรับแสงที่ใช้ และคุณภาพของการเคลือบ Nano ซึ่งแฉกแสงอาทิตย์ที่เรียกได้ว่างดงามนั้น กลุ่มแสงทั้งหมดต้องเห็นรูปทรงอย่างชัดเจน แฉกแสงต้องยาวและกระจายออกอย่างสมดุล พร้อมด้วยปลายแหลมที่คมชัด
จำนวนแฉกแสงที่กระจายออก มักสัมพันธ์กับจำนวนม่านรูรับแสง ซึ่งถ้าจำนวนม่านรูรับแสงเป็นเลขคู่ก็จะได้แฉกแสงจำนวนเท่ากัน ยกตัวอย่างเช่น เลนส์ที่มีม่านรูรับแสงหกใบจะได้ภาพดาว 6 แฉก ในทางกลับกัน จำนวนม่านรูรับแสงที่เป็นเลขคี่จะให้ภาพแฉกแสงเป็นสองเท่า เช่น เมื่อใช้เลนส์ FE 16-35mm F2.8 GM II ที่มีจำนวนม่านรูรับแสง 11 ใบก็จะได้ภาพดาว 22 แฉก ผมชอบถ่ายภาพทิวทัศน์ที่มีเอฟเฟกต์แฉกแสงกระจายเป็น 22 แฉกมาก เมื่อแสงเจิดจ้าสดใสของดวงอาทิตย์สาดส่องผ่านภูเขาออกมาเป็นบางส่วน จะเห็นลำแสงกระจายออกเป็น 11 แฉก (ครึ่งหนึ่งของ 22) เกิดเป็นภาพที่สวยอย่างน่าทึ่ง ในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณมีภาพดาวหกแฉกในสถานการณ์ที่มองเห็นแสงเพียงครึ่งหนึ่งเหมือนอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ ภาพที่ได้ออกมาก็จะมีเพียงสามแฉกแสง ซึ่งอาจไม่น่าพอใจเท่าไหร่
คุณภาพของการเคลือบ Nano ช่วยขจัดแสงสะท้อนบนพื้นผิวชิ้นเลนส์ จึงช่วยลดแสงหลอกและแสงแฟลร์ของเลนส์ได้ เทคโนโลยีการเคลือบ Nano AR รุ่นที่สองของ Sony เริ่มใช้ครั้งแรกในเลนส์ FE 12-24mm F2.8 GM เมื่อปี 2020 และประสบความสำเร็จอย่างมาก เลนส์ระดับแนวหน้ารุ่นนี้ให้ภาพแฉกแสงอาทิตย์สวยและสะอาดตาที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมาเลยครับ เลนส์ FE 16-35mm GM II ตัวนี้ก็ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการเคลือบ Nano AR เดียวกันนี้เช่นกัน แม้ว่าจะในระดับที่น้อยกว่าเนื่องจากการออกแบบเลนส์เองก็ตาม แม้ว่าภาพที่ผมถ่ายจะยังคงมีแสงแฟลร์เล็กจิ๋วอยู่สองสามจุด แต่ก็ลบออกได้ง่าย ๆ ในขั้นตอนการตกแต่งภาพในภายหลัง
หมายเหตุ: เมื่อถ่ายภาพดวงอาทิตย์โดยตรง หลีกเลี่ยงการใช้ฟิลเตอร์ทุกประเภทด้วยนะครับเพื่อป้องกันแสงแฟลร์เข้าไปในเลนส์เพิ่มมากขึ้น
ต่อไปนี้เป็นอันดับที่ผมจัดเองสำหรับคุณภาพของภาพถ่ายแฉกแสงอาทิตย์ซึ่งผมใช้เลนส์ของ Sony ในการถ่ายครับ
-
FE 12-24mm F2.8 GM: เอฟเฟกต์แฉกแสงอาทิตย์ที่ดีที่สุดซึ่งมองไม่เห็นแสงแฟลร์เลย
-
FE 16-35mm F2.8 GM II (เลนส์รุ่นที่รีวิว): เอฟเฟกต์แฉกแสงอาทิตย์ยอดเยี่ยมแต่มีแสงแฟลร์สองสามจุด
-
FE 12-24mm F4 G: เอฟเฟกต์แฉกแสงอาทิตย์สวยงามแต่ลำแสงที่กระจายออกมาไม่คมชัด เมื่อใช้รูรับแสงที่กว้างกว่า F11 จะทำให้ได้รูปดาวโค้งเป็นวงคล้ายพัด
-
FE 16-35mm F2.8 GM: เอฟเฟกต์แฉกแสงอาทิตย์สวยงามแต่มีแสงแฟลร์
-
FE 24-70mm F2.8 GM II: เอฟเฟกต์แฉกแสงอาทิตย์สวยงามแต่มีแสงแฟลร์เป็นบางส่วน
-
FE 24-70mm F2.8 GM: เอฟเฟกต์แฉกแสงอาทิตย์สวยงามแต่มีแสงแฟลร์
-
FE PZ 16-35mm F4 G: เอฟเฟกต์แฉกแสงอาทิตย์ที่ลำแสงเล็กบางและยาวเกินไป ทั้งยังมีแสงแฟลร์ด้วย
ความบิดเบี้ยว
ความบิดเบี้ยวหรือ Distortion เป็นความผิดพลาดทางออปติคัล โดยเส้นตรงจะกลายเป็นเส้นโค้ง ทั้งแบบโค้งเข้าเหมือนถัง โค้งออกเหมือนหมอนปักเข็ม หรือรูปทรงเรขาคณิตเชิงซ้อนเหมือนหนวดก็เป็นได้ ลักษณะนี้จะต่างจากความบิดเบี้ยวจากระยะห่าง (Perspective Distortion) ซึ่งวัตถุที่อยู่ใกล้จะดูเหมือนอยู่ไกลออกไปและวัตถุที่อยู่ไกลจะมีขนาดเล็กลง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมองขึ้นไปที่ตึกสูง เราจะเห็นว่ายอดตึกดูเล็กกว่าฐานตึก ลักษณะเช่นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากฐานตึกอยู่ใกล้กับกล้องมากกว่า เอฟเฟกต์การเอนเข้ามาบรรจบกันนี้จะเห็นได้ชัดขึ้นเมื่อใช้ช่วงความยาวโฟกัสที่กว้างขึ้น และไม่ใช่ความผิดพลาดของเลนส์แต่อย่างใด
เลนส์ซูมจะมีความซับซ้อนเชิงออปติคัลมากกว่าเลนส์ไพรม์ ดังนั้น การผลิตเลนส์ซูมที่มีความบิดเบี้ยวต่ำจึงท้าทายกว่า แม้ว่าทัศนียภาพของทะเลและทะเลสาบจำเป็นต้องควบคุมความบิดเบี้ยวให้ดีเพื่อรักษาเส้นระดับสายตาให้เป็นแนวตรง แต่ในทางปฏิบัติแล้ว ผมไม่ค่อยได้ถ่ายภาพเส้นขอบฟ้าโล่ง ๆ แบบนั้นเท่าไหร่ ภาพถ่ายของผมส่วนใหญ่จะมีวัตถุอยู่ในพื้นหลัง เช่น ทิวเขา ซึ่งช่วยเพิ่มความน่าสนใจให้กับองค์ประกอบภาพ
การแก้ไขความบิดเบี้ยวของ GM II สามารถทำได้ดีกว่า GM
เมื่อถ่ายภาพด้วยช่วงความยาวโฟกัสต่าง ๆ ผมสังเกตเห็นว่าการแก้ไขความบิดเบี้ยวของเลนส์ FE 16-35mm F2.8 GM II สามารถทำได้ดีกว่ารุ่นก่อนเล็กน้อย เลนส์มีความบิดเบี้ยวปานกลาง ซึ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดสุดที่ระยะ 16 มม. ช่วงความยาวโฟกัสตั้งแต่ 20 มม. ถึง 35 มม. จะพบความบิดเบี้ยวน้อยที่สุด ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อเวลาถ่ายภาพในชีวิตจริง ผมจึงไม่ได้สังเกตเห็นความบิดเบี้ยวใด ๆ และไม่จำเป็นต้องแก้ไขความบิดเบี้ยวของภาพทุกภาพในรีวิวนี้ในขั้นตอนการตกแต่งภาพภายหลังด้วย
ภาพด้านล่างคือภาพพร้อมเส้นระดับสายตาที่ผมทดลองถ่าย โดยเป็นภาพก่อนและหลังทำการแก้ไขความบิดเบี้ยวใน Adobe Photoshop
ความคมชัด
เลนส์ต้องมีความคมชัดมากพอจึงจะแสดงความละเอียดสูงสุดของกล้องในระดับล้านพิกเซล (MP) ได้ เมื่อกล้องมีความละเอียดเพิ่มขึ้น เลนส์จำเป็นต้องคมชัดขึ้นด้วยเช่นกันเพื่อให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตเซ็นเซอร์กล้องระดับแนวหน้า Sony ตั้งใจจะผลิตเลนส์ที่คมชัดที่สุดซึ่งสามารถรองรับได้แม้กล้องที่มีความละเอียด 100MP หรือสูงกว่า บริษัทใช้เวลา 20 ปีในการพัฒนาชิ้นเลนส์ XA (extreme aspherical) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการเพิ่มความคมชัดของเลนส์ขึ้นไปอีกระดับ ดังนั้น เลนส์ GM จึงได้ถือกำเนิดขึ้น โดยเป็นการนำความคมชัดอย่างน่าทึ่งกับโบเก้ที่นุ่มละมุนมารวมไว้ด้วยกัน หลังจากนั้นก็ได้มีการพัฒนากลุ่มเลนส์ GM II ซึ่งมีขนาดเล็กลงและเบากว่าเดิม
เลนส์ FE 16-35mm F2.8 GM II ใช้ชิ้นเลนส์ XA สามชิ้น (เลนส์ GM รุ่นก่อนใช้สองชิ้น) ช่วยเพิ่มความคมชัดสม่ำเสมอทั้งยังรักษาดีไซน์ให้มีความกะทัดรัดยิ่งขึ้น ความคมชัดของเลนส์เป็นหนึ่งในคุณลักษณะที่ช่างภาพส่วนใหญ่ต่างปรารถนามากที่สุด ซึ่งเลนส์ GM II ตัวนี้ก็เป็นหนึ่งในเลนส์มุมกว้างพิเศษที่คมชัดที่สุดเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ทำให้ได้ภาพที่คมชัดโดดเด่นตั้งแต่กลางภาพจรดมุมภาพในแบบที่ไม่สามารถหาซื้อได้จากแบรนด์อื่น
การเพิ่มขอบมืดให้กับภาพ
การเพิ่มขอบมืดให้กับภาพหรือ Vignetting คือการค่อย ๆ แรเงาจากรอบนอกของเลนส์เข้าไปยังตำแหน่งตรงกลางที่สว่างกว่า เอฟเฟกต์นี้จะเห็นได้ชัดเจนที่สุดเมื่อใช้รูรับแสงกว้างสุด สำหรับเลนส์ FE 16-35mm F2.8 GM II ตัวนี้มีค่ารูรับแสงกว้างสุดอยู่ที่ F2.8 สำหรับการถ่ายภาพดาราศาสตร์ ควรใช้รูรับแสงกว้างสุด F2.8 เพื่อให้การตั้งค่า ISO ยังคงมีค่าต่ำ ซึ่งช่วยลดนอยส์ได้ การถ่ายภาพในกรณีดังกล่าว ท้องฟ้ากลางคืนจะมืดสนิทซึ่งทำให้ยากต่อการสังเกตการเพิ่มขอบมืด ส่วนใหญ่แล้วผมจะปรับรูรับแสงอยู่ระหว่าง F11 กับ F16 สำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์กลางวันซึ่งจะมองเห็นการเพิ่มขอบมืดได้น้อยที่สุด ดังนั้น ในการใช้งานจริงแล้ว เมื่อใช้เลนส์ตัวนี้จะไม่สามารถสังเกตเห็นการเพิ่มขอบมืด เว้นแต่ว่าคุณจะถ่ายภาพที่เป็นเฟรมสีขาวเสมอกันหมด
การเพิ่มขอบมืดที่ F2.8 เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณตรงกลาง จะเห็นว่ามุมบนซ้ายและขวาไม่มีจุดใดที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แสงที่เส้นระดับสายตาด้านล่างส่งผลถึงส่วนสว่างและส่วนมืดที่มุมทั้งสองของภาพมากกว่า ทำให้เอฟเฟกต์การเพิ่มขอบมืดของเลนส์เห็นได้ไม่ชัดนักแม้ว่าจะมีอยู่ก็ตาม
ในภาพด้านล่าง คุณจะเห็นได้ว่าส่วนของเมฆบริเวณด้านบนซ้ายและด้านบนขวาค่อนข้างสอดคล้องกัน เหมือนกับหิมะที่ด้านล่างซ้ายและด้านล่างขวา เมื่อเปรียบเทียบกับบริเวณตรงกลาง
ความคลาดสี – CA
ความคลาดสีหรือ Chromatic aberration เป็นความผิดพลาดที่เกิดจากเลนส์ เนื่องจากสีทั้งหมดไม่ถูกโฟกัสยังจุดเดียวกันอย่างแม่นยำ ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมของสีซึ่งจะสังเกตเห็นได้ชัดที่สุดบริเวณขอบตัดของภาพ FE 16-35mm F2.8 GM II ใช้การออกแบบออปติคัลขั้นสูงพร้อมด้วยชิ้นเลนส์ Super ED หนึ่งชิ้นและชิ้นเลนส์ ED สองชิ้นเพื่อลดความคลาดสี ผลที่ได้คือ คอนทราสต์และคุณภาพสีดีขึ้นอย่างมาก ทำให้ได้ภาพที่มีความคมชัดเนื่องจากรายละเอียดบริเวณขอบยังคงชัดเจนและสะอาดตา
AF ความเร็วสูงเป็นพิเศษสำหรับอนาคต
เลนส์ FE 16-35mm F2.8 GM II ใช้มอเตอร์ XD Linear 4 ตัวสำหรับการทำงานที่แม่นยำของระบบโฟกัสอัตโนมัติ ซึ่งเร็วขึ้นเป็นสองเท่าจากรุ่นก่อน ในกรณีของกล้องสมรรถนะสูงอย่าง Alpha 9 III จะสามารถถ่ายภาพต่อเนื่องด้วยความเร็วสูงถึง 120 fps ได้เลย ความสามารถของระบบออโต้โฟกัสใหม่นี้เป็นประโยชน์อย่างมากกับการถ่ายวิดีโอหรือการถ่ายภาพกีฬาต่าง ๆ ในระยะใกล้
บทสรุป
การเลือกเลนส์ให้เหมาะกับการเดินทางครั้งสำคัญเป็นเรื่องที่ช่างภาพส่วนใหญ่ต้องพิจารณาไตร่ตรองอย่างจริงจัง การใช้เลนส์ที่มีคุณภาพด้อยอาจทำให้ต้องเศร้าใจไปอีกนาน ผมเคยเจอเรื่องแบบนี้มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ตอนนั้นผมคิดว่าตัวเองได้ถ่ายภาพที่ยอดเยี่ยมเอาไว้แล้วเพื่อที่จะได้มาเจอในภายหลังว่าภาพเหล่านั้นไม่สามารถยอมรับได้จริง ๆ ในทางเทคนิค ภาพถ่ายบางภาพมีแสงที่ดีมากแต่กลับมีความคมชัดน้อยเกินไป ในขณะที่บางภาพมีเอฟเฟกต์แฉกแสงอาทิตย์แต่ก็โดนทำลายด้วยแสงแฟลร์ เรื่องแบบนี้คือฝันร้ายของช่างภาพที่ลงทุนจ่ายเงินไปจำนวนมากเพื่อทริปของตน
หลังจากใช้เวลาสองเดือนไปกับเลนส์ FE 16-35mm F2.8 GM II ผมถ่ายภาพไปแล้วกว่า 800 ภาพ ทั้งภาพที่ถ่ายจากหมู่เกาะโลโฟเทนในประเทศนอร์เวย์และภูมิภาคฮอกไกโดของประเทศญี่ปุ่น ผมก็เริ่มชอบเลนส์ตัวนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ และยิ่งได้มาจับคู่กับกล้อง Alpha 7C II คู่หูคู่นี้เคยรังสรรค์ภาพถ่ายที่คมชัดและมีชีวิตชีวาได้อย่างน่าเชื่อถือท่ามกลางสภาพอากาศที่โหดร้ายที่สุดมาแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเลนส์ตัวนี้คือหนึ่งในเลนส์มุมกว้างพิเศษที่ดีที่สุดเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังใช้ร่วมกับชุดฟิลเตอร์สี่เหลี่ยมขนาด 100 มม. ได้ด้วย เลนส์รุ่นนี้จึงเป็นเลนส์ที่สมบูรณ์แบบสำหรับการถ่ายภาพทิวทัศน์โดยแท้ สำหรับข้อดีและข้อเสียของ FE 16-35mm F2.8 GM II มีดังนี้:
ข้อดี
-
เล็กและเบากว่า FE 16-35mm F2.8 GM อย่างเห็นได้ชัด
-
การควบคุมแสงแฟลร์ทำได้ดีเยี่ยม เป็นรองเพียง FE 12-24mm F2.8 GM เท่านั้น
-
ภาพแฉกแสงอาทิตย์ 22 แฉกที่สวยสุด ๆ มีแสงแฟลร์เพียงไม่กี่จุด ซึ่งสามารถลบออกได้ง่าย ๆ เมื่อทำการตกแต่งภาพในภายหลัง
-
ความบิดเบี้ยวน้อยกว่าเลนส์รุ่นก่อนหน้า ซึ่งการไม่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังยังคงเป็นคุณสมบัติที่พึงมีเสมอ
-
ไม่พบความคลาดสีหรือขอบม่วง
-
ความคมชัดเป็นเลิศตั้งแต่ตรงกลางภาพจนถึงมุมภาพ แม้ว่ามุมภาพจะไม่ได้คมชัดยอดเยี่ยมในระดับเดียวกับตรงกลางภาพก็ตามที
-
รูรับแสงขนาดใหญ่ F2.8 ทำให้ถ่ายภาพเส้นแสงดาวได้อย่างสะดวกสบาย ในขณะที่มุมกว้าง 16 มม. จะมีประโยชน์มากเมื่อทางช้างเผือกอยู่ในแนวตั้ง
-
คุณสามารถใช้ชุดฟิลเตอร์สี่เหลี่ยมขนาด 100 มม. แบบมาตรฐานได้
-
โฟกัสอัตโนมัติความเร็วสูงเป็นพิเศษซึ่งรองรับได้ถึง 120 fps (สำหรับกล้องอย่างเช่น Alpha 9 III)
ข้อเสีย
เมื่อถ่ายภาพดวงอาทิตย์ยังคงมีจุดแสงแฟลร์แต่ก็ไม่กี่จุด ถ้าสามารถแก้ปัญหานี้ให้หมดไปได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนอย่าง FE 12-24mm F2.8 GM ก็คงจะดีมาก อย่างไรก็ตาม จุดแสงแฟลร์ไม่กี่จุดเหล่านี้สามารถลบออกได้ง่าย ๆ ในขั้นตอนการตกแต่งภาพในภายหลัง