S-Cinetone คืออะไร และมีการใช้งานอย่างไร
บทความนี้จัดทำขึ้นสำหรับผู้ใช้กล้อง Sony FX3, Alpha 1 และ Alpha 7S III
S-Cinetone เป็นฟีเจอร์ที่มีความสำคัญมากต่อการถ่ายวิดีโอนับตั้งแต่ที่มีการเปิดตัวฟีเจอร์นี้เป็นครั้งแรกในกล้อง Sony FX9 ปัจจุบันจะพบฟีเจอร์นี้ได้ในกล้องหลายรุ่น ได้แก่ FX3, Alpha 1 และ Alpha 7 และแน่นอนว่าใน Alpha 7S III ที่ได้รับความนิยมมากด้วยเช่นกัน จนเป็นที่มาของคำถามนี้ว่า: S-Cinetone คืออะไร และคุณจะใช้ในการถ่ายภาพยนตร์ให้ถูกต้องเหมาะสมได้อย่างไร
S-Cinetone สำคัญอย่างไร
S-Cinetone คือโปรไฟล์ภาพที่ให้ความรู้สึกแบบภาพยนตร์ (cinematic look) เช่นเดียวกับรูปลักษณ์ในกล้อง Sony VENICE ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างมากด้านความสวยสมจริงของสีผิว และยังทำให้วิดีโอของคุณมีสีแบบภาพยนตร์อีกด้วย แม้ว่ารูปลักษณ์นี้จะได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อ VENICE โดยเฉพาะ แต่ Sony ก็ต้องการนำสีแบบภาพยนตร์ดังกล่าวไปใช้ในกล้องกลุ่มอื่นด้วยโดยการเปิดตัวโปรไฟล์ S-Cinetone ซึ่งเป็นโปรไฟล์ภาพยนตร์สำหรับวิดีโอดิจิทัล ความพิเศษของโปรไฟล์นี้คือ เป็นโปรไฟล์ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้สามารถผลิตคอนเทนต์จากกล้องได้โดยตรงอย่างรวดเร็วและสะดวกโดยไม่จำเป็นต้องทำการเกลี่ยสีในขั้นตอนการตัดต่อ
ต่างจาก S-Log3 อย่างไร
ในแง่ของช่วงไดนามิกแล้ว ปัจจุบัน S-Log3 ให้ช่วงแสงกว้างถึงประมาณ 15+ สต็อป คุณจึงควบคุมได้มากขึ้นเมื่อทำการเกลี่ยสี อย่างไรก็ตาม การถ่ายทำและการตัดต่ออาจเป็นเรื่องท้าทายไม่น้อยสำหรับผู้สร้างภาพยนตร์มือใหม่ แม้ว่า S-Cinetone จะมีช่วงไดนามิกต่ำกว่า S-Log3 แต่ก็มีสมดุลระหว่างช่วงไดนามิกกับระดับนอยส์เหมาะสมที่สุดสำหรับภาพวิดีโอคุณภาพสูง นอกจากนี้ คุณยังได้รับประโยชน์จากการข้ามขั้นตอนการเกลี่ยสีด้วย ด้วยประสบการณ์การใช้งานที่รวดเร็วขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้ S-Cinetone เป็นฟีเจอร์ที่เหมาะที่สุดสำหรับมือใหม่และคนทำงานที่มีกำหนดส่งงานกระชั้นชิด ข้อได้เปรียบอีกอย่างคือ S-Cinetone มี ISO พื้นฐานต่ำกว่า S-Log3 จึงสามารถใช้งานในช่วงกลางวันและในสภาพแสงจ้าได้ดีกว่า
S-Cinetone มีวิธีการใช้งานอย่างไร
ต่อไปจะพูดถึงเรื่องทางเทคนิคกันบ้าง สำหรับการใช้งาน S-Cinetone ในกล้อง Alpha 1, Alpha 7S III และ FX3 ให้เข้าไปที่เมนู Picture Profile ในกล้องของคุณแล้วเลื่อนลงจนกระทั่งเจอ Picture Profile 11 (PP11) ถ้าคุณใช้กล้อง Alpha 7S III และไม่พบ PP11คุณจำเป็นต้องทำการ อัปเดตเฟิร์มแวร์ของกล้อง เมื่อเลือก PP11 และเห็นการตั้งค่าเริ่มต้นของเมนูนี้แล้ว ให้ตรวจสอบว่าทั้ง Gamma และ Colour Mode แสดงขึ้นเป็น “S-Cinetone”
ขั้นตอนต่อไป คุณจำเป็นต้องปรับการรับแสงไปที่ S-Cinetone เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดนอยส์ในฟุตเทจ ตั้งค่าการรับแสงเป็น "Manual" สำหรับกล้อง Alpha 1, Alpha 7S III หรือ FX3 จากนั้นคุณจะเห็นตัวอักษร “MM” ซึ่งย่อมาจาก Metered Manual ที่ด้านล่างของหน้าจอกล้อง ซึ่งแสดงถึงความสว่างของฟุตเทจที่คุณกำลังทำการบันทึกอยู่ ถัดจาก MM คุณจะเห็นเลขทศนิยมในช่วงตั้งแต่ -2.0 จนถึง +2.0 ด้วย เมื่อใช้การวัดแสงในกล้อง ควรพยายามปรับให้ได้ตัวเลข +/- 0.0 ซึ่งเป็นค่าที่เหมาะสมที่สุดสำหรับโปรไฟล์ S-Cinetone เพราะจะให้ความสว่างในปริมาณที่พอเหมาะกับการถ่ายภาพของคุณ
สรุปสั้น ๆ ได้ว่า S-Cinetone นำเสนอวิธีการที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเกลี่ยสีให้กับคุณ เพราะเรารู้ว่ามันอาจเป็นอันตรายต่อการนำเสนอผลงานของผู้สร้างภาพยนตร์เกือบทุกราย ถึงกระนั้น ผู้สร้างบางรายก็ชื่นชอบที่จะได้ควบคุมภาพถ่ายของตนมากกว่าและมีแนวโน้มว่าจะถ่ายทำโดยใช้โปรไฟล์ Log มากกว่า ท้ายที่สุดแล้วย่อมขึ้นอยู่กับตัวผู้สร้างแต่ละคนว่ากำลังมองหาอะไรในขั้นตอนการสร้างสรรค์ผลงานของตนกันแน่